
บางคนอาจคิดว่าการมีพลังพิเศษเหนือธรรมชาติจะมีแค่ในตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนหรือนิยายแนววิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มนุษย์เดินดินบางคนก็สามารถมีความสามารถพิเศษทางกายภาพที่คนทั่วไปไม่มีได้เช่นกัน
ความสามารถพิเศษเหล่านี้บางอย่างเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และบางกรณีเกิดจากการที่ร่างกายปรับตัวให้สอดรับกับวิถีการดำรงชีวิตของพวกเขา
นี่คือ 5 ตัวอย่างของคุณสมบัติทางกายภาพที่พิเศษเหนือคนทั่วไป
1. การมองเห็นใต้น้ำได้อย่างชัดเจน
คนส่วนใหญ่มักเห็นภาพเบลอเมื่อลืมตาใต้น้ำ แต่เด็ก ๆ ชนเผ่ามอแกน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ตามเกาะในแถบทะเลอันดามันทางภาคใต้ของไทย และเมียนมา กลับมีความสามารถพิเศษในการมองเห็นใต้ท้องทะเลด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน
ชาวมอแกนเป็นที่รู้จักในนาม “ชนเผ่าเร่ร่อนแห่งท้องทะเล” เพราะพวกเขามักใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือนแพหรือเรือในทะเล และยังชีพด้วยการจับสัตว์และพืชใต้ทะเล
นี่อาจช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดสายตาของพวกเขาจึงปรับตัวให้สามารถมองเห็นใต้ทะเลได้อย่างชัดเจน และนี่มาจากหลักการทางฟิสิกส์เกี่ยวกับการโฟกัสของสายตาเมื่อดวงตาสัมผัสกับอากาศและน้ำ

เมื่อสัมผัสกับอากาศ แสงจะเกิดการหักเหเมื่อเข้าสู่กระจกตาซึ่งมีความหนาแน่นกว่าอากาศ แต่เพราะความหนาแน่นของน้ำใกล้เคียงกับความหนาแน่นของของเหลวในลูกตา ทำให้การหักเหของแสงไม่เพียงพอที่จะทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจน
แว่นตาดำน้ำช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เพราะทำให้เกิดช่องอากาศระหว่างดวงตากับน้ำ
การศึกษาเมื่อปี 2003 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology พบว่าดวงตาของเด็กชาวมอแกนสามารถปรับสภาพเมื่ออยู่ใต้น้ำได้ในลักษณะเดียวกับดวงตาของโลมา คือ สามารถทำให้แสงหักเหได้เพียงพอที่จะมองเห็นภาพได้ชัดเจนโดยไม่เกิดอาการระคายเคือง
งานวิจัยยังพบว่าผู้ใหญ่ชาวมอแกน ซึ่งมักใช้เครื่องมือจับปลาอยู่เหนือน้ำจะค่อย ๆ สูญเสียความสามารถพิเศษนี้ไป
2. การทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็นสุดขั้ว
ร่างกายคนปกติมีอุณหภูมิระหว่าง 36.5 – 37.5 องศาเซลเซียส ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงสามารถรับมือกับสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าอากาศหนาว
แต่สำหรับชาวอินูอิต ที่คนไทยรู้จักในนาม ชาวเอสกิโม ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบขั้วโลกเหนือ และชาวเนเน็ตที่อาศัยอยู่แถบไซบีเรียของรัสเซีย สามารถปรับตัวให้ทนทานต่อสภาพอากาศที่หนาวเหน็บได้
- ส่องชีวิตชาว ‘อินูเปียต’ ชนพื้นเมืองอะแลสกา ผู้ล่าวาฬเพื่อการยังชีพ
- ชีวิตชาวบ้านในหมู่บ้านสุดหนาว อุณหภูมิติดลบกว่า 60 องศาเซลเซียส
- ผู้คนใช้ชีวิตอย่างไรในหมู่บ้านหนาวเย็นที่สุดในโลก

ร่างกายของชาวอินูอิตตอบสนองต่ออากาศหนาวแตกต่างจากคนทั่วไป เพราะมีคุณสมบัติทางชีวภาพที่ต่างออกไป โดยผิวหนังของพวกเขาจะอุ่นกว่าพวกเรา เพาะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่สูงกว่า อีกทั้งยังมีเหงื่อออกน้อยกว่า และไม่มีอาการสั่นสะท้านจากความเย็น
คุณลักษณะนี้เกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมโดยแท้ หากคุณไม่ใช่ชาวอินูอิตหรือชาวเนเน็ต คุณจะไม่สามารถพัฒนาคุณสมบัติพิเศษในการทนทานความหนาวเย็นเช่นนี้ได้แม้จะอาศัยอยู่ในขั้วโลกเหนือหลายสิบปีก็ตาม
3. ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติแม้จะนอนน้อย
คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องนอนระหว่าง 7-9 ชั่วโมงต่อคืนจึงจะรู้สึกว่าร่างกายได้พักผ่อนเต็มอิ่ม
การอดนอนจะส่งผลต่อการมีสมาธิและสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้

- นอนเพียง 6 ชม.ต่อคืนหรือน้อยกว่า ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
- สุขภาพเสียเพราะอดนอนในวันทำงานแก้ได้ หากงีบเพิ่มในวันหยุด
- คุณนอนเต็มอิ่มไหม?
แต่การศึกษาในปี 2014 ของสถาบันเวชศาสตร์การนอนหลับแห่งอเมริกา พบยีนกลายพันธุ์ตัวหนึ่ง คือ DEC2 ที่ทำให้ร่างกายของผู้ที่มียีนนี้สามารถทำงานได้ตามปกติแม้จะนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน
นักวิจัยพบว่าคนที่มียีนกลายพันธุ์นี้จะมีอาการนอนหลับลึกแบบกรอกลูกตาไปมาอย่างรวดเร็ว (REM) ที่ข้นข้นกว่าคนทั่วไป ทำให้สามารถพักผ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชี้ว่า ยีนกลายพันธุ์นี้พบในคนกลุ่มน้อยมาก หรือคิดเป็น 1% ของคนที่บอกว่าตนเองนอนน้อยกว่าคืนละ 6 ชั่วโมง
ดังนั้นหากคุณนอนไม่ถึง 6 ชั่วโมงแล้วบอกว่าคุณรู้สึกสบายดีก็ให้ระวัง เพราะคุณอาจได้รับผลกระทบจากการนอนไม่เพียงพอเข้าสักวัน
4. มวลกระดูกหนาแน่นผิดปกติ
การสูญเสียมวลกระดูกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเราแก่ชราลง แต่บางคนสูญเสียมวลกระดูกเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และทำให้กระดูกหักง่าย
แต่บางคนมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภาวะตรงกันข้าม ทำให้มีมวลกระดูกหนาแน่นผิดปกติ โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ที่มีภาวะนี้

- “แก้วชีวภาพ” ทางเลือกใหม่แก้ไขปัญหากระดูก
- เซลล์ต้นกำเนิดในน้ำคร่ำของทารกใช้รักษาโรคกระดูกเปราะได้
- วิวัฒนาการของกระดูกทำให้คนเราปวดข้อ
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ พบว่ายีน SOST ส่งผลต่อการผลิตโปรตีน Sclerostin ซึ่งมีหน้าที่ในการเสริมสร้างกระดูก พวกเขาหวังว่าความรู้ที่ได้นี้จะช่วยให้เราค้นพบวิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนในคนชราได้
แต่ข้อเสียของการมียีนตัวนี้จะทำให้กระดูกเติบโตผิดปกติ จนนำไปสู่ภาวะร่างยักษ์ (gigantism), ทำให้ใบหน้าผิดรูป และหูหนวก ความผิดปกติทางพันธุกรรมนี้มักพบในหมู่ชาวอาฟรีกาเนอร์ (Afrikaner) ซึ่งเป็นชาวแอฟริกาใต้ที่มีเชื้อสายดัตช์
5. อาศัยในพื้นที่สูง
ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาแอนดีส ถือเป็นคนอีกกลุ่มที่มีความสามารถทางกายภาพเหนือคนทั่วไป เพราะสามารถอาศัยบนที่สูง 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลได้โดยไม่เจ็บป่วยจากโรคแพ้ที่สูง (High altitude sickness)
โรคแพ้ที่สูง เกิดจากการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เนื่องจากในที่สูงออกซิเจนในอากาศจะเบาบางลง และความดันอากาศจะลดต่ำลง ส่งผลให้ให้ความดันออกซิเจนในเลือดต่ำลงด้วย รวมทั้งอากาศที่หนาวเย็น จะส่งผลให้ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น เพื่อใช้ให้พลังงานเพื่อคงอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ข้อมูลจากเว็บไซต์หาหมอ ระบุว่า อาการแพ้ที่สูง มักเกิดขึ้นประมาณ 6-10 ชั่วโมงหลังจากการขึ้นไปอยู่ในที่สูง อาการแรก คืออาการปวดศีรษะ แต่ปวดไม่มาก และมีการร่วมดังต่อไปนี้อีกอย่างน้อย 1 อาการ คือ
- อ่อนเพลีย
- รู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนล้า ไม่มีแรง
- มีอาการทางด้านทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- หัวใจเต้นเร็ว (ชีพจรเต้นเร็ว) เหนื่อย หายใจลำบาก (เมื่อออกแรง)
- วิงเวียน มึนงง จะเป็นลม และ
- นอนไม่หลับ
แต่งานวิจัยชี้ว่า ชนพื้นเมืองชาวเกชัว แห่งเทือกเขาแอนดีส และชาวทิเบตในแถบเทือกเขาหิมาลัยมีลักษณะพิเศษที่ได้รับการคัดเลือกทางธรรมชาติ ทำให้พวกเขามีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตในที่สูง
พวกเขามีวิวัฒนาการที่ทำให้ส่วนลำตัวใหญ่กว่าคนปกติ ซึ่งช่วยให้มีปอดที่ใหญ่กว่า ทำให้กักเก็บออกซิเจนได้มากกว่าปกติเวลาที่หายใจ
และขณะที่ร่างกายคนทั่วไปผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากขึ้นเมื่อได้รับออกซิเจนน้อย แต่พวกเขากลับผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยกว่า
คุณสมบัติพิเศษทางพันธุกรรมนี้ได้รับการสืบทอดต่อกันมาหลายพันปีทำให้พวกเขามีความพิเศษทางกายภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะอพยพลงไปอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าก็ตาม
Credit : https://www.bbc.com/thai/features-46520081
Image Credit : GETTY IMAGES, ISTOCK